วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

รูปแบบการประเมินผลโครงการ

มีหลายคนสับสน และไม่เข้าใจ ดังนั้นจึงขอนำเอกสารที่ผู้เขียน ไปทบทวนมาแลกเปลี่ยน และคิดว่ามีประโยชน์สำหรับคนที่ต้องการเรียนรู้ด้านการประเมินผล
รูปแบบการประเมินโครงการ
                                                สำราญ สิริภคมงคล
Ph.D. สาขาการวัดและประเมินผลการศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความหมายของรูปแบบการประเมิน

รูปแบบการประเมิน เป็นกรอบความคิด หรือแนวทาง หรือแบบแผนที่นักประเมินใช้ในการประเมิน โดยแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ต้องการประเมิน และวิธีการประเมินในแต่ละส่วน
            สำหรับการจัดกลุ่มของรูปแบบการประเมินสามารถจัดได้หลายแบบ แต่ที่เป็นที่นิยมคือการจัดตามลักษณะของการประเมิน ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1. รูปแบบการประเมินที่เน้นจุดมุ่งหมาย(Objective Based Model) เป็นรูปแบบที่เน้นเป้าหมาย จุดมุ่งหมาย วัตถุประสงค์เป็นหลัก โดยเป็นการเน้นการตรวจสอบว่าผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริงเป็นไปตามผลที่คาดหวังซึ่งระบุไว้ในจุดมุ่งหมายหรือไม่ รูปแบบการประเมินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ รูปแบบของไทเลอร์(Ralph W.Tyler) รูปแบบของครอนบาค (Lee J. Cronbach)รูปแบบของเคิร์กแพททริก(Donald L.Kirkpatrick)
            2. รูปแบบการประเมินที่เน้นการตัดสินคุณค่า (Judgement Model) เป็นรูปแบบที่เน้นการได้มาซึ่งข้อมูลสารสนเทศเพื่อการกำหนดและวินิจฉัยคุณค่าของโครงการนั้นๆ รูปแบบการประเมินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ รูปแบบของสคริพเวน (Michael Scriven) รูปแบบของสเตค (Robert E.Stake) รูปแบบของโพรวัส (Malcolm M.Provus)
            3. รูปแบบการประเมินที่เน้นการตัดสินใจ (Decision – Oriented Model) เป็นรูปแบบที่เน้นการได้มาซึ่งข้อมูลสารสนเทศ เพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารของโครงการนั้นๆ โดยทำให้ผู้บริหารสามารถพิจารณาทางเลือกต่างๆ ที่เหมาะสมและถูกต้องได้ รูปแบบการประเมินที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ รูปแบบของสตัฟเฟิลบีม(Daniel L. Stufflebeam) รูปแบบของอัลคิน (Marvin C.Alkin) รูปแบบของแฮมมอนด์ (Robert L. Hammond) รูปแบบของเวลซ์ (Wayne W. Welch)

1. รูปแบบการประเมินที่เน้นจุดมุ่งหมาย (Objective Base Model)
            1.1 รูปแบบของไทเลอร์ (Ralph W. Tyler)
            ไทเลอร์ เป็นผู้บุกเบิกการประเมินคนสำคัญ ในช่วงที่เกิดภาวะเสื่อมทางเศรษฐกิจและสังคม ได้มีนักศึกษาหลายท่านที่มีบทบาทในการปรับระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกา เป็นการเน้นว่า ในการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ จะต้องกำหนดให้อยู่ในรูปของวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม แล้วประเมินความสำเร็จตามวัตถุประสงค์เหล่านั้น การประเมินในลักษณะนี้จึงเรียกว่าเป็นการประเมินที่ยึดจุดมุ่งหมายเป็นหลัก (goal – based evaluation) โดยมีชื่อเรียกว่าTyler’ Goal Attainment Model”
            จุดมุ่งหมายของการประเมินตามความคิดของไทเลอร์ (Tyler) คือ
1. เพื่อตัดสินว่า จุดมุ่งหมายของการศึกษาที่ตั้งไว้ในรูปของจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรมนั้น ประสบผลสำเร็จหรือไม่ ส่วนใดที่ประสบผลสำเร็จและส่วนใดที่ต้องปรับปรุงแก้ไข
2. เพื่อประเมินความก้าวหน้าของการจัดการศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงนโยบายการจัดการศึกษา
จากจุดมุ่งหมายของการประเมินโครงการ จะเห็นได้ว่า การประเมินเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน โดยมีการจัดลำดับขั้นของการเรียนการสอนและการประเมินผลไว้ 4 ขั้นตอนดังนี้
1.      กำหนดจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรมด้วยข้อความที่ชัดเจนเฉพาะเจาะจง โดยบ่งออกเป็นพฤติกรรมที่ต้องการวัด
2.      กำหนดเนื้อหาหรือประสบการณ์ที่ต้องใช้ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้
3.      เลือกวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เนื้อหาที่กำหนดไว้ได้อย่างครบถ้วน
4.      ประเมินผลโครงการ โดยการทดสอบผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของผู้เรียน
นอกจากนี้ Tyler ได้มีความคิดว่า
1.การประเมินผลโครงการเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน
2. การประเมินผลอาศัยแบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (achievement test)
3. การวิเคราะห์และการสังเกตเป็นพื้นฐานในการประเมินคุณค่าของโครงการ
4. ในการตัดสินความสำเร็จของโครงการควรยึดความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่      เป็นเกณฑ์มากกว่าการใช้ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก
5. การตีความจากคะแนนที่ได้จากการสอบอาศัยคะแนนรวมเป็นหลัก และควรเป็นแบบสอบที่มีลักษณะเป็นเอกพันธ์(homogeneity)
6. มีการวัดพฤติกรรมก่อนและหลังเรียน(pre-post measurement of performance) มีการกำหนดเกณฑ์ไว้ล่วงหน้าเพื่อแสดงถึงระดับความสำเร็จว่าเป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้หรือไม่
Tyler ได้เสนอกรอบแนวคิดของการประเมินโครงการใหม่ โดยแบ่งการประเมิน      เป็น 6 ส่วน คือ
1.      การประเมินวัตถุประสงค์( appraising objectives)
2.      การประเมินแผนการเรียนรู้ (evaluating the learning plan)
3.      การประเมินเพื่อแนะแนวในการพัฒนาโครงการ(evaluation to guide program)
4.      การประเมินเพื่อนำโครงการไปปฏิบัติ(evaluating program implement)
5.      การประเมินผลลัพธ์ของโครงการทางการศึกษา(evaluating the outcome of an educational program)
6.      การติดตาม(follow up) และการประเมินผลกระทบ(impact evaluation)


แผนภาพที่ 1 แบบจำลองของไทเลอร์
  Tyler’s Goal Attainment Model
dropped out
or revised
 
pretest
(X1)
 
stop
 
 




1.2 รูปแบบของครอนบาค (Lee J.Cronbach)
      ครอนบาค (Cronbach) ให้ความหมายของการประเมินผลว่าเป็น การเก็บรวบรวมข้อมูลและใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการทางการศึกษาโดยโครงการอาจหมายถึง กิจกรรมใดก็ได้ และการประเมินผลต้องเกี่ยวข้องกับกิจกรรมหลายอย่าง ซึ่งมีความแตกต่างกัน ดังนั้น จึงไม่สามารถกำหนดได้อย่างชัดเจนว่า จะต้องดำเนินกิจกรรมใดๆ เพราะขึ้นอยู่กับลักษณะของกิจกรรมนั้นๆ และมีความเชื่อว่า การใช้แบบวัดผลสัมฤทธิ์ เพียงอย่างเดียวเป็นการไม่เพียงพอ สำหรับการประเมินผล
จุดมุ่งหมายของการประเมินผล คือ
1.      เพื่อปรับปรุงรายวิชา (course  improvement) เป็นการพิจารณาว่าการเรียนการสอนเป็นอย่างไร สื่อการสอนและวิธีสอนเหมาะสมหรือไม่
2.      เพื่อตัดสินในลักษณะของตัวบุคคล (decision about indivaul) เป็นการพิจารณาคุณลักษณะของบุคคลว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ มีจุดเด่น หรือจุดที่ควรปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ อย่างไร
3.      เพื่อตัดสินเกี่ยวกับการบริหารงาน (administrative regulation) เป็นการพิจารณาในลักษณะของระบบการบริหาร เช่น ระบบการบริหารงานของโรงเรียนเหมาะสมหรือไม่ ครูในโรงเรียนมีประสิทธิภาพในการสอนมากน้อยเพียงใด
แนวคิดของครอนบาค เกี่ยวกับการประเมินผลโครงการเกี่ยวกับการเรียนการสอน     มีดังนี้
1.                        ควรทดสอบทั้งจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ และผลพลอยได้ (side effects) ของโครงการ
2.                        ควรสอบความรู้ความสามารถทั่วไปของผู้เรียน ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าการสอบความรู้ที่เฉพาะในแต่ละรายวิชา เพราะสามารถวัดได้จากการวัดในแต่ละรายวิชาแล้ว
3.                        การกำหนดจุดมุ่งหมายที่เฉพาะเจาะจงมากเกินไปจะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการกำหนดจุดมุ่งหมายแบบกว้างๆ เพราะจะทำให้ผู้เรียนสนใจเฉพาะสิ่งที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่สนใจเรียนสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง
4.                        ข้อสอบจะต้องเป็นความลับ ไม่ควรให้ผู้เรียนทราบคำตอบ ไม่ควรแนะนำ และแต่ละครั้งควรต้องออกข้อสอบใหม่ ไม่ควรเปรียบเทียบผลการสอบด้วยข้อสอบเดียวกันแต่สอบในเวลาต่างกัน จึงควรมีการสร้างข้อสอบหลายๆข้อในเนื้อหาเดียวกัน เพื่อให้มีแบบสอบหลายชุด
ขั้นตอนการประเมินโครงการเกี่ยวกับการเรียนการสอน มีดังนี้
1. บรรยายโครงการให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้
            2. ควรประเมินผลที่เกิดขึ้นทุกด้าน ไม่เฉพาะแต่ผลที่เกิดขึ้นตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้เท่านั้น เช่น ทัศนคติ ความสนใจ ความถนัด เชาวน์ปัญญา
3. ควรวิเคราะห์คะแนนแต่ละข้อ (item) มากกว่าคะแนนรวม
4.ไม่ควรสอบกลุ่มตัวอย่างด้วยข้อสอบชุดเดียวกัน แต่ควรใช้ข้อสอบหลายๆชุดกับกลุ่มตัวอย่างขนาดกลางที่แตกต่างกัน
                        5.ควรใช้การสัมภาษณ์และการสอบด้วยข้อสอบอัตนัยเพิ่มเติม ไม่ควรใช้กลุ่มใหญ่ เพราะเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
6.ไม่ควรมีการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่เรียนเนื้อหาหรือวิธีที่แตกต่างกัน เพราะยากแก่การสรุปผล กลุ่มตัวอย่างอาจมีความไม่เท่าเทียมกันได้
ขั้นตอนการประเมินผล มี 4 ขั้นตอน คือ
1.      การติดตามผล (follow – up studies)
-การศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างจากการศึกษาในรายวิชาใดรายวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ
-การศึกษากับกลุ่มตัวอย่างในโครงการกับกลุ่มตัวอย่างที่มีพื้นฐานทางชีวประวัติ (demographic variables) คล้ายคลึงกัน  เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นในหลายด้านเช่น ความก้าวหน้าทางการศึกษา ทางวิชาชีพ ในระยะยาว ซึ่งผลที่ได้อาจไม่มีผลโดยตรงต่อการปรับปรุงหลักสูตร แต่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตรใหม่ต่อไป
2. การวัดทัศนคติ (attitude measurement)
            เป็นการวัดด้วยวิธีต่างๆเช่น การสัมภาษณ์ การใช้แบบสอบถาม แต่ควรพิจารณาผลการตอบด้วยความระมัดระวัง ควรสร้างข้อคำถามที่ไม่ได้ถามอย่างตรงๆ เพื่อให้ได้ผลการตอบที่น่าเชื่อถือมากที่สุด และควรพิจารณาในลักษณะภาพรวมมากกว่าเป็นข้อมูลเฉพาะบุคคล
3.การวัดความสามารถทั่วๆไป (proficiency measurement) เป็นการวัดโดยใช้แบบสอบมาตรฐาน ซึ่งควรมีหลายชุด และใช้แบบสอบแต่ละชุดกับนักเรียนแต่ละกลุ่ม ควรสอบกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่ดี และแบบสอบต้องมีคุณภาพคือ ข้อสอบแต่ละข้อเป็นตัวแทนที่ดีของแต่ละเนื้อหา ควรใช้แบบสอบแบบเขียนตอบในการวัดความสามารถเฉพาะทาง และใช้กับกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก
จะเห็นได้ว่าเป็นการให้ความสำคัญกับข้อสอบเป็นรายข้อ เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงการเรียนการสอน ทั้งการประเมินความก้าวหน้า และการประเมินสรุปรวม และเชื่อว่าการประเมินโครงการไม่ใช่การประเมินเมื่อสิ้นสุดโครงการแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
4.การศึกษากระบวนการ (process studies)
            เป็นการศึกษาโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในโครงการ เป็นการพิจารณาถึงรายละเอียดของการดำเนินการ ดังนั้นการดำเนินการในขั้นตอนนี้จึงเป็นการประเมินความก้าวหน้าของโครงการในขณะที่โครงการกำลังดำเนินการอยู่

     



   แผนภาพที่ 2 แบบจำลองของครอนบาค
Cronbach’s Goal & Side Effect Attainment Model

N
 
gross study
 
attitude (X2)
measurement
 
follow-up
study (X1)
 
dropped out
or revised
 
stop
 
 



                       




            1.3 รูปแบบของเคิร์กแพททริก (Donald L.Kirkpatrick) เป็นผู้นำในการประเมินผลโครงการฝึกอบรม เนื่องจากการฝึกอบรมเป็นการช่วยเหลือบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นในการจัดฝึกอบรมทุกครั้งต้องมีการประเมินผลการฝึกอบรม เพื่อให้ทราบว่าการจัดฝึกอบรมดังกล่าวมีประสิทธิภาพเพียงใด
ประโยชน์ที่จะได้จากการประเมินผลการฝึกอบรม คือ
                        1.การฝึกอบรมได้ให้อะไรแก่หน่วยงานบ้าง หรือเกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานในลักษณะใด
                        2.ควรมีการจัดโครงการฝึกอบรมต่ออีกหรือไม่ หรือให้ยุติ
                        3.ควรมีการปรับปรุงหรือพัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมให้ดีขึ้นในส่วนใด อย่างไร
                        แนวทางการประเมินการฝึกอบรม ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ
                        1.การประเมินปฏิกิริยาตอบสนอง (Reaction Evaluation) เป็นการตรวจสอบความรู้สึก หรือความพอใจของผู้เข้าอบรม
                        2.การประเมินการเรียนรู้ (Learning Evaluation) เป็นการตรวจสอบผลการเรียนรู้ โดยควรตรวจสอบให้ครอบคลุมทั้งด้านความรู้(Knowledge) ทักษะ (Skill) และเจตคติ (attitude)
                        3.การประเมินพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหลังการอบรม  (Behavior Evalution) เป็นการตรวจสอบว่าผู้ผ่านการอบรมได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นไปตามความคาดหวังของโครงการหรือไม่
                        4.การประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับหน่วยงาน (Results Evalution) เป็นการตรวจสอบว่า ผลจากการอบรมได้เกิดผลดีต่อองค์กร หรือเกิดผลกระทบต่อองค์กรในลักษณะใดบ้าง คุณภาพขององค์กรดีขึ้น หรือมีคุณภาพมากขึ้นหรือไม่
                        แนวทางในการดำเนินการประเมินในแต่ละขั้นตอน เป็นดังนี้
                        1.การประเมินปฏิกิริยาตอบสนอง (Reaction Evaluation)
                           การประเมินในขั้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลว่าผู้เข้าอบรมมีความรู้สึกอย่างไรต่อการฝึกอบรม เช่น ความพอใจต่อการเข้ารับการฝึกอบรมในทุกด้าน ได้แก่ ด้านหลักสูตร หรือเนื้อหาสาระมีความเหมาะสม ตรงกับความต้องการ น่าสนใจหรือไม่ มากน้อยเพียงใด วิธีการที่ใช้ในการฝึกอบรมเหมาะสมหรือไม่ ชอบวิธีการแบบใด กิจกรรมที่จัดให้มีสัดส่วนเหมาะสมหรือไม่ ระหว่างภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ฯลฯ สิ่งที่ต้องการในการประเมินในขั้นตอนนี้คือข้อมูลที่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่แท้จริงของผู้เข้ารับอบรม ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิผลของการฝึกอบรมเป็นอันดับแรกสุด
                        วิธีการที่ทำให้ได้ข้อมูลจากการประเมินปฏิกิริยาตอบสนองจากผู้อบรมอย่างมีความหมายและตามความเป็นจริง คือ
                        1.กำหนดให้ชัดเจนและแน่นอนว่า ต้องการได้รับข้อมูลอะไร เช่น ต้องการปฏิกิริยา ตอบสนองต่อเนื้อหาของหลักสูตรการฝึกอบรม ต่อวิทยากร ต่อสถานที่ฝึกอบรม ต่อระยะเวลาการฝึกอบรม ฯลฯ
                        2.วางแผนกำหนดรูปแบบของเครื่องมือหรือแบบสอบถามที่ใช้เก็บข้อมูลไว้ล่วงหน้า
                        3.ข้อคำถามที่ใช้ควรสามารถนำคำตอบที่ได้มาแปลงเป็นตัวเลขแจกแจงความถี่ หรือวิเคราะห์เชิงปริมาณได้
                        4.กระตุ้นให้ผู้เข้าอบรมได้เขียนแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในข้อคำถามต่างๆ
                        5.เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้แสดงปฏิกิริยาตอบสนองผ่านแบบสอบถามตามความเป็นจริงดังนั้นจึงไม่ควรให้ผู้เข้าอบรมเขียนชื่อของตนเองในแบบสอบถาม
                        นอกจากนี้ในการแจกแบบสอบถาม ผู้ประเมินควรได้ให้เวลาผู้เข้าอบรมอย่างเพียงพอที่จะให้คำตอบครบทุกข้อ และควรแจกในช่วงก่อนที่ผู้เข้าอบรมจะออกจากห้องฝึกอบรมเมื่อสิ้นสุดโปรแกรมการฝึก และควรหลีกเลี่ยงการปล่อยให้ผู้เข้าอบรมนำแบบสอบถามกลับไปตอบและส่งคืนในภายหลัง
                        2.การประเมินการเรียนรู้ (Learning Evaluation)
                           การประเมินในขั้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลว่าผู้เข้าอบรมได้รับความรู้และทักษะอะไรบ้าง และเจตคติอะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งนี้เพราะความรู้ ทักษะ และเจตคติเป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานของผู้เข้าอบรม โดยแนวทางการประเมินในขั้นนี้ ดังนี้
                        1)ใช้แนวคิดการประเมินก่อนและหลังการฝึกอบรม คือวัดพฤติกรรมก่อนการอบรม และภายหลังการอบรม จะทำให้ได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยสามารถใช้วิธีการสังเกต หรือการสัมภาษณ์ ประกอบการพิจารณาได้
                        2)มีการตั้งมาตรฐานในการปฏิบัติงาน เพื่อใช้สำหรับเป็นเกณฑ์เปรียบเทียบกับผลการปฏิบัติงานของผู้เข้ารับการอบรมว่าหลังจากได้เข้าอบรมแล้ว มีทักษะการทำงานสูงขึ้นหรือไม่ ต้องวัดความรู้ ทักษะ และเจตคติของผู้เข้าอบรมทั้งก่อนและหลังการฝึกอบรม
                        1.การวิเคราะห์ผลการสอบ ควรวิเคราะห์ทั้งคะแนนรายข้อและคะแนนรวมโดยเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังการฝึกอบรม
                        2.ถ้าเป็นไปได้ควรมีการเปรียบเทียบความรู้ ทักษะและเจตคติระหว่างกลุ่มที่ได้รับการฝึกอบรมกับกลุ่มควบคุม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่
สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการวัดความรู้ ทักษะและเจตคติ มี 2 วิธี คือ
                        1)ใช้แบบสอบวัดความรู้ ทักษะ และเจตคติที่เป็นมาตรฐาน
                        2)สร้างแบบสอบวัดขึ้นเอง โดยอาจมีรูปแบบ เช่น เป็นแบบถูกผิด แบบมาตรา              ส่วนประมาณค่า (rating scale) ให้ตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แบบ                                เลือกตอบ แบบเติมคำ/ข้อความ
                        3.การประเมินพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหลังการอบรม (Behavior Evalution)
                           การประเมินในขั้นนี้มีวัถตุประสงค์ เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลว่าเมื่อได้รับการอบรมแล้วผู้เข้าอบรมมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานไปในทิศทางที่พึงประสงค์หรือไม่ การประเมินในขั้นนี้นับว่ายากและใช้เวลามากกว่าการประเมินในสองขั้นแรก เพราะต้องออกไปติดตามประเมินผลในสถานที่ทำงานจริงๆ ของผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งผู้ประเมินจะต้องพิจารณาถึงประเด็นที่สำคัญในการประเมินในขั้นนี้ ซึ่งได้แก่
                        - ควรออกไปประเมินเมื่อใดจึงจะเหมาะสม (อาจเป็น 1 เดือน หรือ 3 เดือน หรือ 6 เดือน หรือ 1 ปี ฯลฯ ภายหลังการฝึกอบรม)
                        - ควรเก็บข้อมูลกับใครในที่ทำงานจึงจะได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากที่สุด (อาจเก็บจากผู้บังคับบัญชา จากเพื่อนร่วมงาน จากผู้ใต้บังคับบัญชา หรือจากผู้เข้าอบรมเอง)
            ข้อควรคำนึงถึงในการประเมินพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหลังการอบรม มีดังนี้
1)      ควรมีการวัดพฤติกรรมการทำงานของผู้เข้าอบรมทั้งก่อนและหลังการฝึกอบรม
2)      ระยะเวลาระหว่างการฝึกอบรมกับการประเมินหลังการฝึกอบรมควรห่างกันพอสมควรทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้เข้าอบรมเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานขึ้นจริง และควรมีการประเมินหลายๆครั้ง เป็นระยะๆ เช่น ประเมินทุก 3 เดือน
3)      ควรเก็บข้อมูลจากหลายๆแห่ง เช่น จากผู้บังคับบัญชา จากเพื่อนร่วมงาน
            แนวทางการประเมินในขั้นนี้ มีดังนี้
1)      ใช้แนวคิดการประเมินก่อนและหลังการฝึกอบรม คือวัดพฤติกรรมก่อนการอบรมและภายหลังการอบรม จะทำให้ได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยสามารถใช้วิธีการสังเกต หรือการสัมภาษณ์ ประกอบการพิจารณาได้
2)      มีการตั้งมาตรฐานในการปฏิบัติงาน เพื่อใช้สำหรับเป็นเกณฑ์เปรียบเทียบกับผลการปฏิบัติงานของผู้เข้ารับการอบรมว่าหลังจากได้เข้าอบรมแล้ว มีทักษะการทำงานสูงขี้นหรือไม่
3)      มีการประเมินผลการปฏิบัติงานหรือพฤตกรรมการทำงานของผู้เข้าอบรมจากการสังเกตของผู้บังคับบัญชา หรือหัวหน้างาน ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือกลุ่มบุคคลอื่นๆ ที่คุ้นเคยกับการปฏิบัติงานของผู้เข้าอบรมภายหลังการอบรม
4)      มีการประเมินผลการปฏิบัติงานจากการประเมินผลประจำปี
5)      มีการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ผ่านการอบรมกับกลุ่มที่ไม่ผ่านการอบรม
      จะเห็นได้ว่า การประเมินในขั้นตอนนี้จะต้องใช้เวลา และอาศัยความชำนาญของผู้ประเมินเป็นอย่างมาก จึงควรประเมินกับโครงการฝึกอบรมขนาดใหญ่ หรือโครงการที่จัดต่อเนื่องหลายๆครั้ง ส่วนโครงการฝึกอบรมขนาดเล็กควรใช้วิธีการดังนี้
-กำหนดว่ามีพฤติกรรมการทำงานอะไรบ้าง ที่คาดหวังจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
-เตรียมคำถามที่จะในการสัมภาษณ์
-ทำการสัมภาษณ์บุคคลหลายๆกลุ่ม ภายหลังการอบรมสิ้นสุดไประยะหนึ่ง เพื่อจะได้ทราบว่าพฤติกรรมที่คาดหวังไว้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
-ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ควรนำมาแปลงเป็นตัวเลข เพื่อทำการวิเคราะห์เชิงปริมาณ
สำหรับการสัมภาษณ์ผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้เข้าอบรม ควรจะต้องแน่ใจว่าผู้เข้าอบรมจะไม่มีอิทธิพลต่อการตอบของผู้ใต้บังคับบัญชา
4.การประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับหน่วยงาน (Results Evalution)
   การประเมินในขั้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลว่าเมื่อจัดอบรมสิ้นสุดลง การอบรมก่อให้เกิดผลดีต่อหน่วยงานอย่างไร ซึ่งการประเมินในขั้นนี้นับว่าเป็นขั้นยากที่สุด เพราะในความเป็นจริง มีตัวแปรอื่นๆ อีกหลายตัวซึ่งนอกเหนือจากการอบรมที่มีผลต่อหน่วยงาน ซึ่งตัวแปรทั้งหลายเหล่านี้ยากต่อการควบคุม ดังนั้นการที่หน่วยงานประสบความสำเร็จ หรือมีลักษณะในทางที่ดี ไม่ได้แสดงว่าเป็นผลจากการอบรมเพียงอย่างเดียว
เคิร์กแพททริก ได้ให้ข้อเสนอแนะในการประเมินในขั้นนี้ว่า
1) ควรมีการวัดสภาวการณ์หรือเงื่อนไขต่างๆ ก่อนการฝึกอบรมไว้ก่อน แล้วนำไปเปรียบเทียบสภาวการณ์หรือเงื่อนไขภายหลังการฝึกอบรม โดยใช้ข้อมูลที่สังเกตได้หรือวัดได้
2) พยายามควบคุมตัวแปรอื่นๆ ที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในผลที่ต้องการให้เกิดขึ้นแก่หน่วยงาน วิธีที่สามารถนำมาใช้ได้คือ การใช้กลุ่มควบคุมกับกลุ่มทดลอง


2.รูปแบบการประเมินที่เน้นการตัดสินคุณค่า (Judgement Model)
            2.1 รูปแบบการประเมินของสคริฟเวน(Scriven)
                 ไมเคิล สคริฟเวน (Micheal Scriven) ได้ให้ความหมายของการประเมิน คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติการตามระดับของเป้าหมายที่กำหนด นอกจากที่ยังกล่าวถึงหน้าที่การประเมินว่ามี 2 ระดับ คือ
1.      ระดับวิธีการ เน้นจุดมุ่งหมายของการประเมินเพื่อการตัดสินคุณค่า
2.      ระดับการนำไปใช้ เน้นเรื่องบทบาทของการประเมินเพื่อการนำข้อมูลมาใช้อย่างเหมาะสม
จุดมุ่งหมายของการประเมิน
            จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการประเมินมี 2 ประการคือ
1.      การประเมินความก้าวหน้า (Formative Evaluation) เป็นการประเมินระหว่างที่โครงการกำลังดำเนินการอยู่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงโครงการให้ดีขึ้น เพราะการประเมินจะช่วยให้ข้อมูลย้อนกลับที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงและพัฒนา
2.      การประเมินผลสรุป (Summative Evalution) เป็นการประเมินเมื่อสิ้นสุดโครงการ มีจุดมุ่งหมายเพื่อตัดสินคุณค่าของโครงการ ตลอดจนค้นหาสิ่งที่ดีของโครงการเพื่อนำไปใช้กับสถานการณ์อื่นที่คล้ายคลึงกันต่อไป
            วิธีการประเมิน ในการประเมินมีวิธีการที่สามารถนำมาใช้ได้ 2 วิธีคือ
            1.การประเมินก่อนมีการปฏิบัติงาน หรือการประเมินคุณค่าภายใน (Intrinsic Evaluation) คือ การประเมินคุณค่าของเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล เนื้อหา จุดมุ่งหมาย กระบวนวิธีการ ให้ได้คะแนนและเจตคติของครู เป็นการประเมินก่อนที่จะได้มีการปฏิบัติงาน
            2. การประเมินเมื่อมีการปฏิบัติงานแล้ว หรือการประเมินคุณค่าการปฏิบัติงาน (Pay-off   Evaluation) เป็นการตัดสินคุณค่าจากผลที่เกิดขึ้น จากการใช้เครื่องมือกับนักเรียนเช่น การประเมิน มีความแตกต่างระหว่างคะแนนการทำสอบก่อนเรียนและหลังเรียน หรือคะแนนที่ได้จากกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม
            การประเมินโดยใช้การเปรียบเทียบ
                        สคริฟเวนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกับครอนบาค ในเรื่องของการใช้กลุ่มเปรียบเทียบมาใช้ในการประเมิน ซึ่งสคริฟเวนเป็นบุคคลที่เห็นว่าการใช้กลุ่มเปรียบเทียบมีข้อดีมากกว่าการไม่ใช้กลุ่มเปรียบเทียบ การใช้กลุ่มเปรียบเทียบจะเป็นการประหยัดกว่า ไม่ต้องทำการศึกษาในระยะยาว และใช้กลุ่มตัวอย่างมาก ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก สคริฟเวนยังเชื่อว่าการศึกษากลุ่มย่อย(Micro studies) ด้วยวิธีการเปรียบเทียบจะเป็นประโยชน์มากกว่าการศึกษาประชากรทั้งหมด(Cross studies) เพราะทำได้ง่ายและบ่อยครั้งกว่า
            คุณค่าและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
                                    สคริฟเวน เป็นนักประเมินที่ให้ความสำคัญของการประเมินค่าใช้จ่ายกับผลที่ได้เขาเชื่อว่าการประเมินจะขาดความสมบูรณ์ ถ้านักประเมินไม่ได้พิจารณาในด้านคุณค่าที่ได้รับโดยการเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของโครงการ สิ่งที่ต้องพิจารณามี 3 ประการคือ
                        1.ความเป็นประโยชน์ นักประเมินควรจะต้องพิจารณาดูสิ่งที่ได้ลงทุนไปนั้นมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้หรือไม่
                        2.ขวัญหรือกำลังใจหรือคุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญมากในการดำเนินโครงการ ควรพิจารณาด้วยว่า ผลของโครงการจะทำให้ขวัญหรือกำลังใจ หรือคุณธรรมของผู้ร่วมโครงการเป็นอย่างไร
                        3.ค่าใช้จ่าย เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่นักประเมินไม่ค่อยให้ความสนใจเนื่องจากมีความยุ่งยากในการประเมิน
           


          การประเมินไม่ผูกพันกับจุดมุ่งหมาย (Goal-Free  Evaluation)
                        การประเมินโดยทั่วไป นักประเมินจะยึดจุดหมายของโครงการเป็นหลัก ดูความสอดคล้องระหว่างผลการปฏิบัติงานกับจุดมุ่งหมายของโครงการ ควรเห็นว่านักประเมินควรให้ความสนใจทั้งจุดมุ่งหมายของโครงการและผลที่เกิดขึ้นจากโครงการ
           
            2.2 รูปแบบการประเมินของสเตค (Stake)
            โรเบอร์ต อี สเตค (Robert E. Stake) ได้พัฒนารูปแบบการประเมินโดยใช้แนวคิดของครอนบาค และสคริฟเวนเป็นพื้นฐาน เป็นรูปแบบการประเมินของสเตคนำมาประยุกต์ได้อย่างกว้างขวางในการประเมินโครงการ ตามความคิดของสเตค หมายถึง กระบวนการที่เกี่ยวกับการบรรยาย และตัดสินคุณค่าของโครงการ หรือเป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ จุดมุ่งหมายของการประเมินมี 2ประการคือ เพื่อต้องการได้ข้อมูลต่างๆ ที่นำมาบรรยายเกี่ยวกับโครงการนั้น และเพื่อต้องการได้ข้อมูลต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการตัดสินคุณค่าของโครงการ
วิธีการประเมิน
                  สเตค ได้เสนอโครงสร้างของรูปแบบการประเมินเคานท์ทิแนนซ์ (Countenance Model) ซึ่งตามโครงสร้างของรูปแบบนี้ ได้จำแนกข้อมูลการประเมินออกเป็น 2 ส่วน คือ เมตริกซ์บรรยาย (Description Matrix) และเมตริกซ์การตัดสินคุณค่า (Judgement Matrix) และได้เสนอว่าก่อนบรรยายหรือตัดสินคุณค่าของโครงการใดๆ  ได้จำแนกสิ่งที่ต้องพิจารณาในการประเมินออกเป็น 3 ส่วนคือ
                        1.สิ่งนำหรือปัจจัยเบื้องต้น (Antecedents) หมายถึง สภาพเงื่อนไขหรือปัจจัยต่างๆในการดำเนินโครงการ
            2.กระบวนการหรือการปฏิบัติ (Transaction) หมายถึง กิจกรรมดำเนินตามกิจกรรมที่ปฏิบัติ พฤติกรรมระหว่างบุคคล ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับอาจารย์ นักเรียนกับนักเรียน เป็นต้น
                        3.ผลลัพธ์หรือผลการดำเนินงาน (Outcome) หมายถึง ผลผลิตที่ได้จากโครงการ
ในการเก็บข้อมูลผู้ประเมินต้องบันทึกข้อมูลทั้ง 3 ชนิดนี้ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
                        1)ความคาดหวังหรือแผนงาน (Intents) หมายถึง สิ่งที่คาดหวังไว้จำแนกเป็นความคาดหวังเกี่ยวกับปัจจัยเบื้องต้น การปฏิบัติ และผลการดำเนินงานโครงการ
                        2)สิ่งที่เกิดขึ้นจริง(Observations) หมายถึง สภาพที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจำแนกเป็นสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเกี่ยวกับปัจจับเบื้องต้น การปฏิบัติ และผลการดำเนินงาน
                        3)มาตรฐาน (Standards) หมายถึง แนวทางการดำเนินงาน คุณลักษณะที่ควรจะมี ควรจะทำ หรือควรจะได้รับ เกี่ยวกับปัจจัยเบื้องต้น การปฏิบัติ และผลการดำเนินงาน
                        4) การตัดสินใจ (Judgment) หมายถึง ผลการพิจารณาการตัดสินใจ เป็นการพิจารณาสรุปเกี่ยวกับปัจจัยเบื้องต้น การปฏิบัติ และผลการดำเนินงาน
                        ในการประเมิน ผู้ประเมินต้องพิจารณาข้อมูลเพื่อการบรรยายก่อน คือต้องมีการศึกษาความสอดคล้องระหว่างความคาดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเบื้องต้น การปฏิบัติและผลลัพธ์ เมื่อได้ผลอย่างไรแล้วจึงเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ และมาตรฐานที่คาดว่าจะให้เกิดขึ้นแล้วตัดสินใจ

ความคาดหวัง            สิ่งที่เกิดขึ้นจริง                                                                   มาตรฐาน                          การตัดสิน
(intents)                 (observations)                                                                      (standards)                      (judgements)










  1
สิ่งนำ(Antecedents)
 
4
  2
ปฏิบัติการ(Transactions)
 
5
3
ผลลัพธ์(Outcome)
 
6

แสดงถึง  ความสอดคล้อง
 
 เมตริกซ์การบรรยาย                                                                    เมตริกซ์การตัดสินใจ
แผนภาพ รูปแบบการประเมินของสเตค
 
แสดงถึง  ความสัมพันธ์
 
                                                           




สเตค เสนอวิธีการประเมินในรูปของเมตริกซ์(Matrix) สองประการคือ เมตริกซ์การบรรยายและเมตริกซ์การตัดสินใจ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
                        1.ในเมตริกซ์การบรรยาย แบ่งออกเป็น 6 ช่อง คือ
                        ช่องที่ 1 หมายถึง ภาวการณ์ที่คาดหวังว่าต้องมีอยู่ก่อนที่การดำเนินงานโครงการเกิดขึ้น โดยถือว่าเป็นภาวการณ์ที่เอื้ออำนวยให้เกิดผลตามได้มุ่งหมายไว้
                        ช่องที่ 2 หมายถึง กระบวนการที่เกิดขึ้นในการดำเนินการตามความคาดหวังว่าจะเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ คือ ก่อให้เกิดผลตามได้มุ่งหมายไว้
                        ช่องที่ 3 หมายถึง ผลผลิตที่คาดหวังว่าจะได้รับหลังจากการดำเนินงาน
                        ช่องที่ 4 หมายถึง ปัจจัยที่มีอยู่จริงก่อนที่เริ่มโครงการ
                        ช่องที่ 5 หมายถึง กระบวนการดำเนินงานตามที่สังเกตได้จริงจากโครงการ
                        ช่องที่ 6 หมายถึง ผลผลิตที่ได้จริงๆ หลังจากโครงการจบลงแล้ว
                        ตั้งแต่ช่องที่ 1ถึง 6 ผู้ประเมินต้องพิจารณาข้อมูลใน 2 แนว คือในแนวตั้งได้แก่ ช่อง 1-2-3 และ 4-5-6 ควรมีความสัมพันธ์กัน เพื่อดูว่าปัจจัยเบื้องต้นเอื้ออำนวยต่อกระบวนการหรือไม่และในแนวนอนได้แก่ 1-4,2-5 และ 3-6 ต้องมีสอดคล้องกันทั้งนี้เพื่อต้องการทราบว่าข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติจริงๆ ในแต่ละส่วนตามแนวตั้งนั้นมีความสอดคล้องกับสิ่งที่คาดหวังไว้หรือไม่ประการใด และต้องมีการปรับปรุงในส่วนใดบ้าง
                        เมื่อพิจารณาในแนวตั้งและในแนวนอน แล้วพบว่า มีความสัมพันธ์และสอดคล้องกัน แสดงว่าโครงการนั้นเป็นโครงการที่บรรลุผลตามที่คาดหวังไว้
                        2.เมตริกซ์ในการตัดสินใจ จำเป็นต้องใช้เกณฑ์มาตรฐานเพื่อพิจารณาข้อมูลที่ได้ จากเมตริกซ์บรรยาย เกณฑ์มาตรฐานนี้อาจมีอยู่ก่อนแล้วหรือตั้งขึ้นใหม่โดยคณะกรรมการหรือผู้รับผิดชอบโครงการก็ได้ สำหรับที่มาของการตัดสินใจ ควรให้ผู้ประเมินมีบทบาทด้วย คือ ต้องสรุปออกมาให้ได้ว่า โครงการการศึกษามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด หรือต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่จุดใดหรือมีปัจจัยอะไรเป็นตัวเกื้อหนุน หรือเป็นอุปสรรคต่อโครงการ
                        แนวคิดของสเตคแตกต่างไปจากแนวคิดของคนอื่นๆ ตรงที่พบว่าผลผลิตยังไม่ดีไม่ได้หมายความว่า การวางแผนไม่ดีหรือหลักสูตรไม่ดี แต่อาจบกพร่องที่องค์ประกอบอื่นๆ เช่น การจัดสภาพแวดล้อม ผู้สอน ผู้บริหาร ผู้เรียน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็ได้

2.3  รูปแบบการประเมินของโพรวัส (Provus)
                        โพรวัส (Provus 1969) ได้ให้ความหมายของการประเมินผลว่าเป็นการเปรียบเทียบผลการปฏิบัติการกับมาตรฐาน หรือเป็นการค้นหาความไม่สอดคล้องระหว่างความคาดหวังผลการปฏิบัติการงานของแผนงาน โดยได้อธิบายว่ามีความไม่สอดคล้องทั้งหมด 5 ส่วนที่สามารถศึกษาได้จากการใช้แผนงาน คือเป็นความไม่สอดคล้องที่สัมพันธ์กับขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
                        ขั้นที่ 1 การออกแบบโครงการ คือ การกำหนดปัจจัยที่ทำให้เกิดการดำเนินงาน กำหนดกระบวนการดำเนินงาน และกำหนดผลที่คาดหวังจะได้รับจากการดำเนินงาน
                        ขั้นที่ 2 การเตรียมพร้อม คือเป็นการนำปัจจัยที่ทำให้เกิดการดำเนินงานเข้าสู่กระบวนการ
ขั้นที่ 3 กระบวนการที่ใช้เพื่อการดำเนินงาน
ขั้นที่ 4 ผลผลิต
ขั้นที่ 5 การวิเคราะห์เกี่ยวกับการลงทุน
                        ตามรูปแบบนี้ การประเมินต้องทำโดยผู้ประเมินคณะหนึ่งที่ได้วางมาตรฐานตามความคาดหวังของโครงการเอาไว้ ต่อจากนั้นการประเมินทุกอย่างต้องดำเนินไปโดยการหาข้อมูลใหม่และทำการตัดสินใจโดยใช้มาตรฐานที่วางไว้เป็นเกณฑ์ เป็นรูปแบบที่ช่วยให้หาข้อมูลย้อนกลับ(Feedback) ในทุกขั้นตอนของการประเมิน

แผนภาพ รูปแบบการประเมินความไม่สอดคล้องของโพรวัส
 
S หมายถึง มาตรฐาน (Standard)                                                                      T หมายถึง ยกเลิก (Terminate)
P หมายถึง การดำเนินการ (Program performance)                                      A หมายถึง การเปลี่ยนแปลง (Alteration เกี่ยวกับ Tหรือ S)
C หมายถึง เปรียบเทียบ(Compare)                                                                  D หมายถึง ความไม่สอดคล้อง (Discrepancy information)
 
 











            การประเมินในแต่ละขั้นตอน ถ้าหากพบข้อบกพร่องก็แก้ไขปรับปรุงในขั้นตอนนั้นๆ ด้วยวิธีการแก้ปัญหา (Problem solving) ซึ่งประกอบด้วยการถามตนเอง เพื่อให้ได้คำตอบว่าทำไมจึงเกิดข้อบกพร่องนั้นๆ มีอะไรเป็นสาเหตุ และมีวิธีการใดที่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องที่มาจากสาเหตุนั้น สำหรับขั้นตอนในการแก้ปัญหามีดังนี้
คำถาม                          เกณฑ์                           ข้อมูลที่ตอบคำถาม                     การตัดสินใจ
(Q)                               (C)                                           (I)                                      (D)
            เมื่อผู้ประเมินทำการประเมินถึงขั้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะดำเนินงานหรือเริ่มวงจรใหม่ ก็ต้องทำการออกแบบใหม่ โดยปรับปรุงให้สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์การลงทุน ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของปัจจัยเบื้องต้นใหม่
         
          3.รูปแบบการประเมินที่เน้นการตัดสินใจ(Decision-Oriented Model)
                3.1 รูปแบบการประเมินของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบการประเมิน เรียกว่า ซิปโมเดล (CIPP Model) ซึ่งเป็นการประเมินที่เป็นกระบวนการต่อเนื่อง โดยมีจุดเน้นที่สำคัญคือ ใช้ควบคู่กับการบริหารโครงการ เพื่อหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา  วัตถุประสงค์ของการประเมินคือ การให้สารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีรายละเอียดที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจคำว่า CIPP เป็นคำย่อมาจาก Context Input  Process และ Product
                        ได้ให้ความหมายว่า การประเมินเป็นกระบวนการของการบรรยาย การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะสม ซึ่งในการประเมินเพื่อให้ได้สารสนเทศที่สำคัญมุ่งประเมิน 4 ด้าน คือ การประเมินสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) การประเมินปัจจัยเบื้องต้น (Input Evaluation) การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) และการประเมินผลผลิต (Product Evaluation)

            ประเภทของการประเมิน                                            ลักษณะการตัดสินใจ
เลือก/ปรับวัตถุประสงค์ของโครงการ
 
1) ประเมินภาวะแวดล้อมของโครงการ(Context Evaluation)
 
เลือกแบบ/กิจกรรม/ปรับเปลี่ยนปัจจัยเบื้องต้น
 
2) ประเมินปัจจัยเบื้องต้น
 (Input Evaluation)
 
 






ปรับปรุงแนวทาง หรือกระบวนการทำงาน
 
3) ประเมินกระบวนการ
   (Process  Evaluation)
 
ปรับปรุง/ขยาย/ล้มเลิกยุติโครงการ
 
4) ประเมินผลผลิต
(Product  Evaluation)
 
 










            แผนภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเภทของการประเมินกับการตัดสินใจในแบบจำลองซิป

                        แนวทางการประเมินในด้านต่างๆ มีรายละเอียดดังนี้
            1.การประเมินสภาพแวดล้อม (Context Evaluation: C) เป็นการประเมินเพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญ เพื่อช่วยในการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการความเป็นไปได้ของโครงการ เป็นการตรวจสอบเพื่อตอบคำถามต่างๆ เช่น
-         เป็นโครงการที่สนองปัญหา หรือความต้องการจำเป็นที่แท้จริงหรือไม่
-         วัตถุของโครงการชัดเจน เหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายขององค์กร หรือนโยบายของหน่วยเหนือหรือไม่
-         เป็นโครงการที่เป็นไปได้ในแง่ของโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆหรือไม่
                        2. การประเมินปัจจัยเบื้องต้น (Input Evaluation: I) เป็นการประเมินเพื่อใช้ข้อมูลตัดสินปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เหมาะสมหรือไม่ โดยดูว่าปัจจัยที่ใช้จะมีส่วนช่วยให้บรรลุจุดมุ่งหมายของโครงการหรือไม่ เป็นการตรวจสอบเพื่อตอบคำถามที่สำคัญ เช่น
-ปัจจัยที่กำหนดไว้ในโครงการมีความเหมาะสม เพียงพอหรือไม่
-กิจกรรม/แบบ/ทางเลือก ที่ได้เลือกสรรแล้ว ที่กำหนดไว้ในโครงการ มีความเป็นไปได้และเหมาะสม เพียงใด
                        3. การประเมินกระบวนการ(Process Evaluation:P) เป็นการประเมินระหว่างการดำเนินงานโครงการ เพื่อหาข้อดี และข้อบกพร่องของการดำเนินงานตามขั้นตอนต่างๆ ที่กำหนดไว้ และเป็นการรายงานผลการปฏิบัติงานของโครงการนั้นๆด้วย ซึ่งเป็นการตรวจสอบเพื่อตอบคำถามที่สำคัญ เช่น
- การปฏิบัติงานเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่ กิจกรรมใดทำได้หรือทำไม่ได้ เพราะเหตุใด
- เกิดปัญหา อุปสรรค ไม่ราบรื่น ไม่คล่องตัวหรือไม่ อย่างไร
- มีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ฯลฯ
                        4. การประเมินผลผลิต (Product Evaluation: P) เป็นการประเมินเพื่อดูว่าผลที่เกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ โดยอาศัยข้อมูลจากการรายงานผลที่ได้จากการประเมินสภาพแวดล้อมปัจจัยเบื้องต้น และกระบวนการร่วมด้วย ซึ่งเป็นการตรวจสอบเพื่อตอบคำถามที่สำคัญๆ เช่น
-เกิดผล/ได้ผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่
-คุณภาพของผลลัพธ์เป็นอย่างไร
-เกิดผลกระทบอื่นใดบ้างหรือไม่



          3.2 รูปแบบการประเมินของอัลคิน (Alkin)
                        ได้เสนอรู้แบบการประเมินที่เรียกว่าCSE (Center for the study of Evaluation Approach) จุดเน้นของการประเมินตามแนวคิดของอัลคิน คือ การประเมินเพื่อการตัดสินใจ อัลคินได้ให้ความหมายของการประเมินว่า เป็นกระบวนการกำหนดขอบเขตของสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ การเลือกข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสม การเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การจัดทำรายงานสรุปให้กับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ในการเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับการดำเนินงานของโครงการ

            ขอบข่ายของการประเมิน
                        จากความหมายของการประเมินตามแนวคิดของอัลคินนั้น การประเมินจะประกอบด้วยการจัดหา และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อที่จะนำไปใช้ในการตัดสินใจ โดยในการประเมินจำเป็นจะต้องประเมินในเรื่องต่างๆ 5 ด้าน ดังนี้
                        1.การประเมินระบบ (System  Assessment) เป็นการอธิบายหรือพรรณนาสภาพของระบบเพื่อเปรียบเทียบสภาพที่เป็นจริงกับความคาดหวังที่จะให้เกิดขึ้น การประเมินระบบจะช่วยให้เราสามารถกำหนดขอบเขต และวัตถุประสงค์ที่เหมาะสม สิ่งที่จะต้องศึกษาได้แก่ ความต้องการของประชาชน ชุมชน และสังคม ที่มีต่อสภาพการณ์ปัจจุบัน สำหรับการประเมินระบบแต่ละส่วนจำเป็นต้องใช้เทคนิควิธีการต่างๆกัน
                        2.การประเมินการวางแผนโครงการ (Program Planning) เป็นการประเมินก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการ เพื่อหาข้อมูลข่าวสารมาใช้ในการตัดสินใจพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการ นักประเมินต้องหาข้อมูลที่แสดงความคาดหวังที่จะบรรลุเป้าหมาย พร้อมกับประเมินผลที่จะได้รับจากการใช้วิธีการดำเนินงานต่างๆ ด้วย เพื่อให้สามารถเห็นข้อเปรียบเทียบในการหาทางเลือกที่เหมาะสม โดยใช้วิธีการที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของปัญหา โดยทั่วไปจะใช้การประเมินจากเกณฑ์ภายนอกและจากเกณฑ์ภายใน
                        3.การประเมินการนำไปใช้เพื่อการดำเนินโครงการ (Program Implementation) เป็นการประเมินขณะที่โครงการกำลังดำเนินงาน เพื่อตรวจสอบดูว่า การดำเนินโครงการนั้นเป็นไปตามขั้นตอนต่างๆ ที่ได้วางแผนไว้หรือไม่ ผลที่เกิดขึ้นมีความสอดคล้องกับสิ่งที่วางแผนไว้ หรือคาดหวังไว้เพียงไร
                        4.การประเมินเพื่อปรับปรุงโครงการ (Program Improvement) เป็นการประเมินเพื่อหาข้อมูลที่นำมาใช้ในการดำเนินโครงการให้บรรลุจุดมุ่งหมาย และมีผลที่ไม่คาดคิดมาก่อนเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ ดังนั้น นักประเมินจึงมีบทบาทสำคัญในการที่จะหาข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จหรือความล้มเหลวในทุกๆด้านของโครงการ ตลอดจนผลกระทบของโครงการที่มีต่อโครงการอื่น เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงโครงการต่อไป
                        5.การประเมินเพื่อการยอมรับโครงการ (Program Certification) ขั้นตอนนี้นักประเมินต้องหาข้อมูลข่าวสารรายงานต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจ เพื่อใช้ข้อมูลในการพิจารณาตัดสินคุณค่าของโครงการและศักยภาพในการสรุปอ้างอิงไปสู่สถานการณ์อื่นๆ หรือนำไปใช้กับโครงการในสถานการณ์อื่นๆ ได้กว้างขวางเพียงใด ในขั้นนี้ข้อมูลที่ได้จากนักประเมินจะทำให้ผู้บริหารได้ตัดสินใจว่า ควรจะดำเนินกับโครงการในลักษณะใด อาจจะยกเลิก ปรับปรุงใหม่ หรืออาจจะขยายโครงการต่อไปอีก เป็นต้น


                                    สรุปรูปแบบการประเมินของอัลคิน ได้ดังแผนภาพดังนี้

 







แผนภาพ รูปแบบการประเมินโครงการอัลคิน (Alkin)


1.3   รูปแบบการประเมินของเวลซ์ (Welch)
            ให้ความหมายการประเมินว่า เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดสารสนเทศ (information) สำหรับผู้ตัดสินใจ กระบวนการประเมินเป็นกลุ่มของกิจกรรมที่ได้มาซึ่งสารสนเทศ สารสนเทศที่ได้มาจะมีประโยชน์สำหรับใช้เป็นข้อมูลให้ผู้บริหารหรือเจ้าของโครงการใช้ในการตัดสินใจพิจารณาทางเลือกของการดำเนินงานครั้งต่อไป สำหรับขั้นตอนการประเมิน
 











แผนภาพ รูปแบบการประเมินและการตัดสินใจของเวลซ์(Welch)


ในการประเมินโครงการตามแนวคิดของเวลซ์ เมื่อดำเนินการประเมินโครงการใดๆ จะต้องตอบคำถาม 3 ข้อ ดังนี้
            1.ทำไมต้องประเมิน หรือประเมินทำไม คำถามนี้ทำให้ผู้ประเมินทราบถึงความสำคัญของปัญหาที่จะต้องประเมินว่าการประเมินเป็นการประเมินผลความก้าวหน้า (Formative Evaluation) การประเมินผลสรุป (Summative Evaluation) หรือ การประเมินเพื่อการบริหาร (Administrive Evaluation)
            2.ประเมินอะไร คำถามนี้ทำให้ผู้ประเมินทราบถึงวัตถุประสงค์ของการประเมิน
            3.ประเมินอย่างไร คำถามนี้ทำให้ผู้ประเมินทราบถึงวิธีการและขั้นตอนของกระบวนการประเมิน

ตารางขั้นตอนการประเมินของเวลซ์
ขั้นตอนที่ 1
การเก็บรวบรวมข้อมูล
ขั้นตอนที่ 2
การวิเคราะห์ข้อมูล
ขั้นตอนที่ 3
การรายงานผล
รูปแบบการประเมิน
การลงรหัส
การเขียนเป็นรายงาน
เทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูล
การวิเคราะห์
การนำเสนอด้วยวาจา
การจัดการ
การสังเคราะห์
การติดตามผล

ขั้นตอนที่ 1 การเก็บรวบรวมข้อมูล
            รูปแบบการประเมิน จะต้องมีการกำหนดกรอบแนวคิดหรือแนวทางการประเมินก่อน ซึ่งเรียกว่าการกำหนดรูปแบบการประเมิน โดยอยู่ในขั้นตอนของการวางแผนการประเมินเพื่อเน้นให้เห็นว่าก่อนการประเมินจะต้องทำอะไรบ้าง
เทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูล นักประเมินจะต้องมีความรู้ในการวัดผล เพื่อนำเทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูลมาใช้เก็บข้อมูลสำหรับการประเมิน เทคนิคที่ใช้ได้แก่ การสังเกต การสัมภาษณ์ แบบสอบถาม วิธีการสุ่มผู้สอบและข้อสอบ (Matrix Sampling) เป็นต้น
การจัดการ นักประเมินจะต้องมีการเตรียมการด้านเวลา บุคคล และการเงิน สำหรับการประเมิน โดยอาจใช้เทคนิค PERT (Program Evaluation and Review Technique) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในการวางแผนโดยเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาโครงการ และเทคนิคPPBS (Program Planning Budget System) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในการจัดการข้อมูลด้านค่าใช้จ่ายงบประมาณในการประเมิน

ขั้นตอนที่ 2 การวิเคราะห์ข้อมูล
            หลังจากที่ได้มีการกำหนดรูปแบบของการประเมิน ใช้เทคนิคในการเก็บรวบรวมข้อมูลและมีการจัดเก็บข้อมูลแล้ว จะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูล โดยเริ่มจากการลงรหัส ซึ่งเป็นการเตรียมข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ ต่อจากนั้นเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้วิธีการทางสถิติ แล้วนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลมาทำการสังเคราะห์ โดยการเรียบเรียงใหม่ให้ได้ใจความ รวบรวมประเด็นสำคัญเพื่อประมวลเป็นสารสนเทศ
ขั้นตอนที่ 3 การรายงานผล
            เป็นการเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการรายงานผลการประเมินในรูปของสารสนเทศแก่ผู้บริหาร หัวหน้าโครงการ หรือผู้ตัดสินใจ สารสนเทศที่เสนอควรมีลักษณะที่สั้น กะทัดรัด ได้ใจความสำคัญ อ่านง่าย สื่อได้รวดเร็ว โดยอาจรายงานด้วยการเขียนเป็นรายงาน หรือการรายงานด้วยวาจา การเขียนเป็นรายงานจะทำให้มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนการรายงานด้วยวาจาจะทำให้เข้าใจง่ายและรวดเร็ว เพราะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ แต่อาจเกิดการลืมได้ ดังนั้น การรายงานผลการประเมินจึงอาจใช้ทั้ง 2 รูป แบบควบคู่กันได้
จุดอ่อนของการประเมินตามรูปแบบของเวลซ์ คือ รูปแบบนี้ไม่ได้กล่าวถึงการประเมินวัตถุประสงค์ของโครงการ แต่เน้นการประเมินผลสัมฤทธิ ของโครงการมากกว่า ดังนั้น สารสนเทศที่นำเสนอให้ผู้ตัดสินใจหาทางเลือกในการดำเนินงานจึงควรเน้นว่าให้พิจารณาที่วัตถุประสงค์ของโครงการด้วย ซึ่งจะทำให้ทราบว่าโครงการที่ทำไปแล้วบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่ อย่างไร ยังมีจุดใดบ้างที่จะต้องปรับปรุง เพิ่มเติมหรือตัดออก เพื่อให้การดำเนินโครงการในครั้งต่อไปมีประสิทธิภาพ และได้ประสิทธิผลสูงตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ทุกประการ
         
          3.4  รูปแบบการประเมินของแฮมมอนด์ (Hammond)
            ได้เสนอแนวคิดในการประเมินโครงการไว้ ดังนี้
1. การประเมินโครงการควรกระทำอย่างเป็นระบบ (systematics evaluation) เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐาน(baseline data) ที่น่าเชื่อถือ และเพียงพอต่อการตัดสินใจในการดำเนินโครงการ ว่าจะดำเนินการต่อ หรือยุติโครงการ
2. การประเมินเป็นกระบวนการ เพราะมีกิจกรรมที่แฝงอยู่ทุกขั้นตอนของโครงการโดยเฉพาะในกระบวนการพัฒนาหลักสูตร และมีลักษณะเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่อง
3.โครงสร้างสำหรับการประเมิน (A Structure Evaluation) เป็นการประเมินความสำเร็จหรือความล้มเหลวของนวัตกรรมในโครงการ ด้วยปฏิสัมพันธ์ของมิติต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย 3 มิติ ที่อยู่ในสภาวะแวดล้อมการศึกษา ดังนี้

            1) มิติการสอน (Instruction Dimension)
            2) มิติสถาบัน (Institution Dimension)
            3) มิติพฤติกรรม (Behavioral Dimension)
            มิติทั้ง 3 ด้านประกอบเป็นลูกเต๋าสามมิติ เรียกว่าเป็น “Cube Model” โดยแต่ละมิติมีตัวแปรต่างๆ และแต่ละตัวแปรจะมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างมิติทั้งสาม ทำให้เกิดการรวมตัวกัน เรียกว่า ตัวประกอบ (factors)
 










กล่องข้อความ: Student

Teacher

Administrator

Educational Specialist

Family

Community
INSTRUCTION
 
 



            แผนภาพโครงสร้างสำหรับการประเมิน (Structure for Evaluation)

สำหรับรายละเอียดของโครงสร้างเพื่อการประเมิน มีดังนี้
            1.มิติการสอน (Instruction Dimension) ประกอบด้วย 5 ส่วน คือ
                1.1 การจัดระบบ (Organization) พิจารณาได้เป็น 2 ส่วน คือ
                        1) เวลา (time) หมายถึง การจัดเวลาเรียน (ช่วงเวลา) และการจัดลำดับของกิจกรรมในวิชาต่างๆ
                        2) พื้นที่ (space) หมายถึง การจัดกลุ่มผู้เรียน ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะย่อย คือ การจัดกลุ่มตามระดับของพัฒนาการทางการเรียนรู้ กับการจัดกลุ่มเพื่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
            1.2 เนื้อหาสาระ (Content) หมายถึง องค์ความรู้หรือโครงสร้างของความรู้ซึ่งวิเคราะห์ได้จากหลักสูตร
            1.3 วิธีการ (Method) หมายถึง กระบวนการที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้หรือนำไปสูการจัดการเรียนการสอน ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ กิจกรรมการสอน (Teaching Activities) รูปแบบการปฏิสัมพันธ์ (Type of Interaction) และทฤษฏีการเรียนรู้ (Learning Theory)
            1.4 สิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) ได้แก่ วัสดุ ครุภัณฑ์  ที่อำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ
            1.5 ค่าใช้จ่าย (Cost) หมายถึง รายจ่ายในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ที่จำเป็นต้องใช้
            2. มิติสถาบัน (Institution Dimension) ประกอบด้วย 6 ส่วน คือ
            2.1 ผู้เรียน (Student) มีตัวแปรต่างๆ ได้แก่ อายุ ระดับชั้น เพศ ภูมิหลังทางครอบครัว ภูมิหลังทางเศรษฐกิจ ทางสังคม สุขภาพกาย สุขภาพจิต ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความสามารถ ความสนใจ และความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนวัตกรรม
            2.2 ครู (Teacher ) มีตัวแปรเกี่ยวกับ
            -ข้อมูลเฉพาะบุคคล เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว สุขภาพทางกาย บุคลิกภาพ
            -ข้อมูลทางการศึกษา เช่น วิชาเอก วิชาโทในการศึกษาระดับต่างๆ วุฒิสูงสุด ประสบการณ์ทางการศึกษา ประสบการณ์ด้านอื่นๆ ฯลฯ
            -ข้อมูลด้านสภาวะแวดล้อม ได้แก่ เงินเดือน สมาชิกชมรมวิชาชีพ สมาชิกชมรมต่างๆ ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม นิสัยการอ่าน งานอดิเรก ฯลฯ
            2.3 ผู้บริหารและฝ่ายบริหาร (Administration)ศึกษาตัวแปรเช่นเดียวกับครู (Teacher)
            2.4 ผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษา (Educational Specialist) ศึกษาตัวแปรเช่นเดียวกับครู(Teacher)
            2.5 ครอบครัว (Family) ศึกษาถึงระดับของการมีส่วนร่วมในโครงการ ลักษณะทั่วไปของครอบครัว เช่น เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ขนาดของครอบครัว การกระจายของอายุ รายได้ อาจพิจารณาระดับของรายได้ จำนวนผู้ทำงาน แหล่งของงาน ฯลฯ ที่อยู่อาศัย ภูมิลำเนา การศึกษา สถานภาพการสมรส สมาชิกชมรมต่างๆ ฯลฯ
            2.6 ชุมชน (Community) ศึกษาถึงสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ลักษณะภูมิหลังของบุคคลในชุมชน ภาษา ระบบการเคลื่อนย้าย การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ลักษณะโครงสร้างทางอาชีพของสังคม ลักษณะภูมิหลังของสังคม เช่น การปกครอง การศึกษา ศาสนา การค้าขาย ระบบการเงิน แรงงาน การพักผ่อน ฯลฯ


3. มิติพฤติกรรม (Behavioral Dimension) ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
3.1 พุทธิพิสัย (Cognitive Domain) หมายถึงตัวแปรด้านความรู้ เป็นการเรียนรู้ เนื้อหาวิชาการ โดยมีการใช้แบบวัดผลสัมฤทธิ์เป็นเครื่องมือการวัดในด้านนี้
3.2 จิตพิสัย (Affective Domain) หมายถึงตัวแปรด้านความรู้สึก เป็นการอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี มีความประพฤติที่ถูกต้อง มีความสนใจและค่านิยมที่เหมาะสม
3.3 ทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) หมายถึงตัวแปรด้านทักษะ เป็นการเรียนรู้ที่เน้นการทำงาน การใช้ทักษะทางกล้ามเนื้อและการปฏิบัติต่างๆ
การประเมินที่ดี ควรเริ่มต้นประเมินโครงการที่ดำเนินอยู่ (Current Program) ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดทิศทางของนวัตกรรมที่จะนำมาใช้ สำหรับขั้นตอนการประเมินมีดังนี้
1.ประเมินโครงการที่ดำเนินอยู่ (current program) ถือเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อการทำนาย(prediction source) ซึ่งจะให้ข้อมูลและพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดตัวแปรต่างๆ ในนวัตกรรมที่จะประเมิน ในการประเมินขั้นนี้จึงต้องกำหนดและอธิบายตัวแปรอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายกับการดำเนินงานของโรงเรียน ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อวิธีการประเมิน และอาจทำให้กลับไปใช้การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในการประเมินเหมือนเดิม
2.ให้ความหมายของตัวแปรต่างๆในมิติการสอน และมิติสถาบันทุกตัว
3.เขียนวัตถุประสงค์เชิงพฤตกรรม โดยชี้ให้เห็นความจำเป็นของวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับเนื้อหา ตัวผู้เรียน และพฤติกรรมความรู้
4.ประเมินผลพฤติกรรมตามที่ได้ระบุไว้ในวัตถุประสงค์ ซึ่งมีการใช้แบบสอบถาม และเครื่องมือวัดผลประเภทต่างๆ เพื่อใช้ในการพิจารณานวัตกรรมที่กำลังดำเนินการ
5.วิเคราะห์ผลที่ปรากฏภายในตัวประกอบต่างๆ และผลของความสัมพันธ์ระหว่างตัวประกอบเพื่อให้ได้ข้อสรุปตามความเป็นจริง ซึ่งสะท้อนประสิทธิผลของโครงการ
สรุปว่า รูปแบบการประเมินตามแนวคิดของแฮมมอนด์ เน้นความพร้อมของบุคลากร ระดับโรงเรียน ระดับท้องถิ่น ให้สามารถดำเนินการประเมินด้วยตนเอง และแนะนำให้ไช้หลักของไทเลอร์ (Tyler) ในการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม และการใช้ข้อมูลย้อนกลับไปพิจารณาประเมินการบรรลุวัตถุประสงค์ด้วย







มาตรฐานโครงการ

หัวข้อรายงานการประเมิน
บทที่ 1
·       หลักการและเหตุผล (ความเป็นมาของโครงการ ความสำคัญของการประเมินมุ่งสนองสารสนเทศให้ใคร)
·       วัตถุประสงค์ของการประเมิน (วัตถุประสงค์ทั่วไป วัตถุประสงค์เฉพาะ)
·       ขอบเขตของการประเมิน (จุดเน้น ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง ช่วงเวลา)
·       ข้อจำกัดของการประเมิน(เกี่ยวข้องกับข้อมูล ระยะเวลาการนำผลไปใช้ )
·       คำจำกัดความ(นิยามศัพท์เทคนิค)
·       ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ (ผลตามวัตถุประสงค์/จุดมุ่งหมาย และผลพลอยได้)
บทที่ 2 โครงการที่มุ่งประเมิน
·       ความเป็นมาของโครงการ
·       ลักษณะของโครงการ
·       วัตถุประสงค์ของโครงการ
·       เป้าหมายของโครงการ
·       สภาพการและบุคลากร (กลุ่มที่เกี่ยวข้อง เกณฑ์การคัดเลือก)
·       หลักสูตรหรือโปรแกรมการฝึกอบรม
·       กิจกรรมที่ชัดเจน (ตารางกิจกรรม การบริหาร การประสานงาน)
·       วัสดุอุปกรณ์
·       งบประมาณ
·       เกณฑ์การตัดสินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ (เกณฑ์หรือมาตรฐานสำหรับตัดสินคุณค่า)
บทที่ 3 วิธีการประเมิน
·       รูปแบบการประเมิน (รูปแบบหรือแนวทางการประเมินที่นำมาใช้)
·       คำถามเชิงประเมิน (คำถามหลัก คำถามรอง และตัวแปร)
·       เครื่องมือ (ข้อมูลที่ต้องการ แหล่งข้อมูล และการพัฒนาเครื่องมือ)
·       วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล (ขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูล การควบคุมคุณภาพ)
·       วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล(สถิติเชิงบรรยาย เชิงสรุปอ้างอิง)
·       วิธีการตัดสินคุณค่า (เกณฑ์การประเมิน และการตัดสิน)
·       วิธีการรายงานผลการประเมิน(แผนการรายงานผล)
·       ค่าใช้จ่ายในการประเมิน(งบประมาณการประเมินโครงการ)
บทที่ 4 ผลการประเมิน
·       ผลการวิเคราะห์ด้านโครงการ (ความสอดคล้องภายใน/ภายนอก)
·       ผลการประเมินด้านกระบวนการ(เป็นไปตามแผน การปรับเปลี่ยน ปัญหา อุปสรรค)
·       ผลการประเมินด้านผลสัมฤทธิ์ของโครงการ (ประสิทธิผล ผลกระทบ)
บทที่ 5 สรุปผลการประเมิน อภิปราย และข้อเสนอแนะ
·       สรุปผลการประเมิน (ผลสำคัญของโครงการ)
·       อภิปรายผล (ความเชื่อมั่นต่อผล เปรียบผลกับเกณฑ์ หรือโครงการอื่น ความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง)
·       ข้อเสนอแนะ (เชิงนโยบาย เชิงปฏิบัติ)
·       บรรณานุกรม

·       ภาคผนวก (รายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ เครื่องมือ สูตร/วิธีการคำนวณ ตารางประกอบ)

1 ความคิดเห็น:

  1. Harrah's Hotel and Casino - MapYRO
    충청북도 출장샵 mapy › mapy This property is not yet available. 원주 출장마사지 Harrah's Hotel 보령 출장마사지 and Casino features two hotel towers 여주 출장샵 with a total of 2,590 guest rooms and suites, approximately 194,000 square 남양주 출장안마 feet

    ตอบลบ